#เกษตรจันท์ ต้อนรับนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า นายอรรถกร ศิริลัทธยากร และคณะ ในการลงพื้นที่ตรวจติดตามการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก สร้างความมั่นใจในคุณภาพความปลอดภัยผลไม้ไทยในตลาดผลไม้โลก
วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 นายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้ากลุ่มทุกกลุ่ม เกษตรอำเภอทุกอำเภอ ร่วมต้อนรับ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า นายอรรถกร ศิริลัทธยากร และคณะ ในการลงพื้นที่ตรวจติดตามการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก ณ จังหวัดจันทบุรี ร่วมด้วยนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง และหัวหน้าส่วนราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การลงพื้นที่ในครั้งนี้นี้เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกผลไม้ ปัญหาและอุปสรรคการส่งออกจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมมอบนโยบายในการดำเนินงานควบคุมการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกไปต่างประเทศตามที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเร่งด่วนให้ขับเคลื่อน“นโยบายผลไม้ปลอดภัย มีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออก” และรับฟังปัญหาจากเกษตรกร
พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้นำทุเรียนก่อนตัดไปตรวจหาสารแคดเมี่ยม และเปอร์เซ็นต์ น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนการเก็บเกี่ยวตามที่จังหวัดจันทบุรีกำหนด เพื่อการันตีถึงคุณภาพผลผลิตและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของ ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุให้นำทุเรียนที่จะ ส่งออกไปตรวจหา BY2 ณ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองการตรวจสอบคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตรและ GACC จำนวน 6 แห่ง ที่ได้อนุญาตให้ใช้ห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถในการทดสอบสาร Basic yellow 2 และตรวจสอบ ศัตรูพืชและข้อกำหนดต่างๆ ตามข้อตกลงพิธีสารไทย-จีน ก่อนปิดตู้และออกใบรับรองสุขอนามัยพืชส่งออก
นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีและทุกภาคส่วนในจังหวัดจันทบุรี ได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการผลไม้ให้มีคุณภาพ รักษาและยกระดับผลไม้ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิต รวบรวม และกระจายผลไม้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก พืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง และสละ ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณ ผลผลิตไม่น้อยกว่า 900,000 ตัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท จนเกิดเป็น “จันทบุรีโมเดล” ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานสร้างมาตรการในพื้นที่เพื่อควบคุม รักษาคุณภาพของผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีและขยายผลไปทั่วประเทศ